ทำไมเด็กสมัยนี้ถึงเลือกไม่ได้ว่าอยากเป็นอะไร?
1. Paradox of Choice
โลกเปลี่ยนไปไวมากๆ กับการศึกษาก็เช่นกัน
ปัจจุบันการแข่งขันในการศึกษาเข้มข้นขึ้นมาก โดยหลักสูตร International กำลังมาแรงและดูน่าสนใจเพราะเรื่องข้อได้เปรียบของภาษานั้น เอื้อประโยชนในการศึกษาต่อในต่างประเทศในระดับที่สูงขึ้น หรือการทำงานในอนาคต ทำให้ในแต่ละมหาวิทยาลัยมีการเปิดคณะใหม่ๆ ที่เป็นคณะ inter เพิ่มขึ้นแบบ exponential สถาบันต่างๆแข่งขันกันสร้างหลักสูตรที่ทันสมัยที่นำไปใช้ได้จริงเพื่อดึงดูดนักศึกษา รวมถึงการแข่งขันในเรื่องของค่าใช้จ่าย ซึ่งดูจากทางเลือกแล้วก็น่าจะเป็นประโยชน์มากกับนักเรียน หรือ ลูกๆ หลานๆ เราในยุคนี้
*โลโก้ในภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลมหาลัยฯที่ใช้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับคณะ Inter
ปัจจุบันมีคณะ Inter อยู่กว่า 411 คณะ จาก 30 มหาลัยฯทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 114 คณะ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 45 คณะ, วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล 18 คณะ และจากมหาลัยต่างๆ อีกกว่า 234 คณะ
(ข้อมูลอัพเดท ก.ค. 2565)
ซึ่งตัวเลือกที่มีมากถึง 411 ซึ่งเกิดจากการแข่งขันในระดับมหาวิทยาลัยนี้ ดูจะเป็นประโยชน์ในแง่การ Maximize Individual Freedom หรือการเพิ่มอิสระในการศึกษาเพิ่มมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการ Maximize Choice
ในทางกลับกัน การมีทางเลือกที่มากขึ้น กลับกลายเป็นปัญหาเรื่อง Paradox of Choice ที่กล่าวไว้โดย Barry Schwartz
(source)
การทดลอง เรื่องของตัวเลือก โดย Barry Schwartz
มีร้านเบเกอรี่นึงทำแยมมาขาย 24 ชนิด กับอีก ร้านที่มี แยม 6 ชนิด ท้ายที่สุดร้านที่มีแยมขาย 24 ชนิดมีคนตัดสินใจซื้อ 3% ในขณะที่ ร้านที่มีแยม 6 ชนิด มีคนตัดสินใจซื้อ 30%
การที่มีตัวเลือกมากเกินไป จะทำให้เกิดภาวะ paralysis ก็คือ ประมาณว่าอึ้งเลือกไม่ถูก เลยไม่เลือกเลยดีกว่า หรือ เอาไว้เลือกพรุ่งนี้ละกัน
หากเทียบกับร้านกาแฟ เมื่อก่อนเข้าร้าน เราก็คงเลือกแค่ไม่กี่อย่าง ลาเต้ อเมริกาโน่ เอสเปรสโซ่ แล้วค่อยมาเลือก ร้อน เย็น ปั่น เป็นอันจบ
แต่ปัจจุบันอยากสั่งอเมริกาโน่เย็น เหมือนจะจบแล้วเลือกมาแล้ว ยังต้องมาดูอีกว่า คั่วอ่อน คั่วเข้ม คั่วกลาง เมล็ดมาจากไหน สายพันธุ์อะไร พอเลือกสายพันธุ์ได้แล้ว เอา process ไหน natural honey หรือหมักอีก การเลือกเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เมื่อก่อนกับตอนนี้ เหมือนร้านกาแฟเลยครับ
มองในแง่ดี ใช่เลย การมีตัวเลือกทำให้ชีวิตเราดีขึ้น มีอิสระมากขึ้น เลือกสินค้าได้ตรงตามความต้องการมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกดีมากขึ้น แต่ในทางกลับกันอาจทำให้เกิดผลเสีย เช่น เสียเวลาในการตัดสินใจเราจะตัดสินใจยากขึ้น หลังตัดสินใจแล้ว เราก็จะ เอ๊ะอีกว่า ที่เราตัดสินใจไปมันถูกมั้ย มันดีที่สุดหรือยัง ทำให้จริงๆแล้วเราอาจได้รับความพึงพอใจน้อยลง ยิ่งกาแฟที่เลือกมาดันไม่อร่อยตามที่คาดหวังไว้เราจะนึกขึ้นทันทีเลยว่า "รู้งี้น่าจะเลือกแบบอื่นมากกว่า" ทั้งๆ ที่ตัวเลือกนั้นอาจจะดีอยู่แล้วก็ได้
ลองคิดดูว่าตัวเลือกเรื่องกาแฟ ถ้าเราไม่พอใจ ครั้งหน้าเราก็ลองใหม่ลองตัวเลือกอื่น หรือร้านอื่น ไม่ชอบแบบนี้ พรุ่งนี้มาใหม่ก็ได้ หรือ จะเททิ้ง แล้วเราก็ซื้อใหม่ได้ทันที แต่กับการเลือกเรียนล่ะ? เลือกไปแล้วต้องเรียนอีกหลายปี เลือกใหม่ก็เสียเวลาเพื่อนๆไปถึงไหนกันแล้วเราต้องเริ่มใหม่อีก มันไม่ง่ายเลยจริงๆ
อีกประเด็น การที่มีตัวเลือกน้อย เวลาเราไม่พึงพอใจ เราจะโทษโลกใบนี้ ก็ทำไงได้ทั้งโลกนี้มันก็มีกาแฟแค่นี้ ไม่ชอบก็ไปกินอย่างอื่น เราจะไม่โทษตัวเราเองไม่เครียดไม่กดดัน แต่ถ้ามีตัวเลือกเยอะมากมีกาแฟ 40-50 ชนิดขึ้นไป เลือกแล้วเราไม่ชอบใจ เราจะโทษใคร เราจะโทษตัวเราเอง เราเลือกผิดเอง ควาดกดดันจะกลับมาที่ตัวเรา
ย้อนกลับมาที่การศึกษาต่อ จุดนึงที่เรียนไปแล้วยากได้คะแนนไม่ดี ก็จะโทษว่าวันนั้นเราเลือกเอง ความรู้สึกผิดความรับผิดชอบทั้งหมดจะกลับมาที่ผู้เลือกอีกครั้ง
2. เลือกคณะไม่ได้ต้องทำยังไง
ย้อนกลับไปสมัยครู (ผู้เขียนเอง) ต้องเลือกคณะจะเรียนต่อ ที่มหาวิทยาลัยมีตัวเลือกแค่ประมาณไม่ถึง 10 คณะ หมอ วิศวะ วิทยาศาสตร์ จิตรกรรม สถาปัตย์ ศึกษาศาสตร์ โบราณคดี ฯลฯ
แต่พอตัดตัวเลือกจากสิ่งที่เราสนใจ วิชาที่เราเรียนและทำได้ดี ซึ่งมาทางวิทยาศาสตร์ ตัวเลือกเหลือไม่ถึง 3 ตัวเลือก ถ้าผมเองต้องมาเลือกคณะที่อยากเรียนในยุคนี้ ผมต้อง paralysis อย่างแน่นอน
ปัญหาที่เจอในตอนนี้คือ หลังจากน้องๆ paralysis กับตัวเลือก เลยไม่รู้จะเลือกอะไร ท้ายที่สุดก็พึ่งกูเกิ้ล เสิร์ชดู แล้วเลือกคณะที่ได้รับความนิยม แย่งกันเข้า หรือท้ายที่สุดก็เลือกตามเพื่อนไปเลย เราจะพบว่าคณะบริหารที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแข่งขันสูง และคะแนนสอบเข้าสูงขึ้นทุกปี อยากรู้คณะบริหารอะไรมหาวิทยาลัยไหนลองเสิร์ชดูครับ ไม่ยาก
ผมเคยสอนนักเรียน คลาสใหญ่คลาสนึงประมาณ 30-40 คน พอดีวันนั้นสอนจบเร็วกว่าเวลาเลยได้มีเวลาสอบถามว่าเลือกคณะอะไรกันบ้าง ผมตกใจเลยที่ 90% ในห้องนั้นเลือกคณะบริหาร แต่ที่ตกใจกว่าคือ ด้วยความสงสัยเลยถามแต่ละคน พบว่าเกินครึ่งที่เลือกเรียนบริหาร เพราะ ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร กับเลือกตามเพื่อนไป มีแค่สองสามคนเท่านั้น ที่มีคำตอบชัดเจน
ดังนั้น หากเข้าใจภาวะในการเลือกของน้องๆ ในยุคนี้ มันไม่ง่ายเลยจริงๆ
ถ้าแบบนั้นจะทำอย่างไร
หากเรามองคณะที่มีในตอนนี้ เราควรจำแนกหลักๆก่อนว่า แต่ละคณะนั้นจริงๆแล้วถูกออกแบบมาเฉพาะทางมากๆ ให้ดูน่าสนใจ น่าดึงดูดให้มีคนมาศึกษา ออกแบบให้เหมาะสมดูทันสมัยดูทันโลก แต่จริงๆแล้วชื่อคณะนั้นๆ แต่ละปีเค้าสอนอะไร หากเอาหลักสูตรมากางดู เราจะพบว่าแต่ละคณะในสองสามปีแรก เป็นการเรียนวิชาพื้นฐาน ซึ่งดูๆแล้วค่อนข้างจะคล้ายหรือ เหมือนกันกว่า 60-70% ถ้าอยู่ใน Field เดียวกัน
ดังนั้น เราก็ควรพิจารณาตัวเลือกจาก Fiend หลักๆก่อน เหมือนคณะหลักๆ ที่เคยมีในสมัยก่อนว่าเราอยาก เรียนประมาณไหน
ถ้าให้เปรียบกับการ เลือกกาแฟ เราก็ควรเลือกเมล็ดก่อนว่าชอบแบบไหน-> คั่วระดับใด-> ร้อน เย็น หรือ ปั่น ->แลัวค่อยไปเลือกสายพันธุ์ ไม่งั้นเราจะ Paralysis
3. Career Test
ปัจจุบัน มีบททดสอบซึ่งใช้เป็นตัวชี้วัดในตัวบุคคลว่ามีความเหมาะสมในการประกอบวิชาชีพใด เราเรียกมันว่า Career Test ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายบริษัท ผ่านการทำการวิจัยและการพัฒนา ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ การออกแบบมีทั้งทำถามเชิงจิตวิทยาและเชิงตรรกกะ ทางโรงเรียนของเราให้ความสนใจในเรื่องนี้อย่างมาก คิดว่าการทำแบบทดสอบเพื่อบอกว่าเราควรเรียนอะไรมันเป็นอะไรที่เจ๋ง และน่าจะช่วยนักเรียนเราในยุคนี้ได้ แต่พอศึกษาไปถึงจุดนึงกลับมีความคิดเห็นว่า
เราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีอิสระ เพราะเราได้เลือกและรับผิดชอบผลการเลือกนั้นด้วยตนเอง มันไม่ใช่ทางเลือกที่ผิดที่ถูก แต่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราในตอนนั้น ในต้นทุนและปัจจัยรอบข้างที่เรามีในตอนนั้น
ดังนั้น หากให้ข้อสอบชุดนึงมาเป็นตัวกำหนดว่าเราต้องเป็นอาชีพนั้นอาชีพนี้
มันไม่น่าจะใช่ เราจึงไม่ได้ใช้ career test กับนักเรียนของเรา
เราเรียนรู้และฉลาดขึ้นทุกวันจากตัวเลือกที่ผิดของเราในอดีต ดังนั้นการเรียนก็เช่นกัน มันไม่แปลกหากเราจะเลือกเรียนคณะนึงแล้วพบว่าไม่ใช่ทุกการเปลี่ยนแปลงและการตัดสินใจ หากเรามั่นใจมันย่อมมีทางออกเสมอ
ผมรู้จักหมอที่เรียนจบวิศวะมาก่อน เจ้าของร้านขายยาที่เรียนจบวิศวะเช่นกัน หรือเจ้าของอะไรต่อมิอะไรที่เรียนไม่จบ อยากขอส่งกำลังใจให้น้องๆ ในยุคนี้ และพิจารณาตัวเลือกในการเรียนต่ออย่างมีสติ อย่าลืมว่าการเปลี่ยนตัวเลือกคณะที่เรียนใน Filed เดียวกัน หรือใกล้กัน ย่อมง่ายกว่าการเปลี่ยนแนวไปเลย แต่ไม่ว่าอยากเปลี่ยนไปแนวไหน ทางโรงเรียนเราพร้อมช่วยให้คำปรึกษา สอน และติว ให้น้องๆไปเป็นได้อย่างที่หวังและตั้งใจครับ
สุดท้ายนี้ การตอบคำถามที่ว่า โตขึ้นอยากเป็นอะไร อยากเรียนคณะอะไร ไม่ใช่คำถามที่หาคำตอบได้ในวันเดียว แต่ก็ไม่ใช่คำถามที่ไม่มีคำตอบ หากเรามองหามันและถามตัวเราเองในทุกๆ วัน
- ครูกอล์ฟ
The Class Tutor
Comments