top of page
รูปภาพนักเขียนPararawee

"คนไร้บ้าน" ความจริงแล้วไม่ไร้บ้าน? คุยกับ "พี่เอ๋ สิทธิพล ชูประจง" หัวหน้าโครงการ "ผู้ป่วยข้างถนน"

พาน้องๆและคุณพ่อคุณแม่ ไปมองอีกด้านหนึ่งของสังคม กับองค์กรเล็กๆที่เป็นกลไกขับเคลื่อนพลังบวกไปสู่ชุมชน

ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับคนไร้บ้าน และการทำงานด้านสังคม "คนไร้บ้าน" ความจริงแล้วไม่ไร้บ้าน หมายถึงอะไร, โครงการดีดีซักอบอาบ และถ้าอยากทำงานด้านสังคม ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร กับ "พี่เอ๋ สิทธิพล ชูประจง" หัวหน้าโครงการ "ผู้ป่วยข้างถนน" แห่งมูลนิธิกระจกเงา

บางคนอาจจะเข้าใจความหมายของคำว่า "คนไร้บ้าน" กันคนละแบบ พี่เอ๋พอจะอธิบายคำจำกัดความของคนไร้บ้านได้มั้ยคะ ว่าเป็นแบบไหนยังไงบ้าง


ครับ ถ้าอธิบายแบบรวบรัดหน่อย คนไร้บ้านก็คือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สาธารณะเต็มรูปแบบ ใช้ชีวิตในการ กิน อยู่ หลับ นอน ใช้ชีวิตทั้งวันในพื้นที่สาธารณะเต็มรูปแบบ ไม่ใช่แค่แวบๆ มาแล้วก็กลับบ้าน หรือมาทำการค้าขายในที่สาธารณะแล้วก็พอเย็นก็กลับบ้าน อันนั้นไม่ใช่ครับ

ตัวคนไร้บ้านเองเนี่ย จริงๆ แล้วเขาคือคนที่มีบ้านนะครับ เป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าไม่สามารถที่จะอยู่ที่บ้านกับครอบครัวได้ ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ คือหนีออกจากบ้านน่ะ มีปัญหาเลยออกจากบ้านมา

พอจะนึกภาพออกค่ะ จากประสบการณ์ส่วนตัว(ผู้สัมภาษณ์) สมัยไปเรียนที่เยอรมัน ก็จะมีคนแบบนี้เยอะมาก จะอยู่ตามสถานีรถไฟเป็นกลุ่มๆ พอได้สอบถามคนเยอรมันว่าทำไมเขาถึงออกมาอยู่ที่นี่ เขาก็บอกว่าคนพวกนี้บางคนเป็นคนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน หลังจากนั้นตกต่ำ แล้วก็รับตัวเองไม่ได้ ก็เลยเอาตัวเองออกมาอยู่ข้างนอก จะได้เจอคนที่เหมือนๆกันกับเขา พอเขาก็แฮปปี้ เลยไม่กลับบ้าน แต่ไม่ทราบว่าที่ไทยเป็นปัญหาประเภทเดียวกันไหมคะ


ปัญหาส่วนมากจะเป็นเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจนั่นแหละครับคล้ายกัน เนื่องจากคนที่ออกจากบ้านเนี่ยเขาไม่ใช่คนที่สามารถทำการผลิตได้ หมายถึงไม่สามารถเป็นแรงงานได้แล้ว ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คือ อายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป



ก็คือตอนหนุ่มๆ ก็ยังอยู่บ้าน แต่พอเริ่มมีปัญหาก็ออกมาใช่มั้ยคะ


ใช่ครับ ก็คือไม่มีศักยภาพในการผลิต ในการทำงานต่างๆ แล้ว รู้สึกเป็นภาระของบ้าน พอเป็นภาระเนี่ย เขาก็เลือกที่จะออกมา ซึ่งพอออกมาแล้วเนี่ย ปัญหาของการออกมาคือเขาไม่มีช่องทาง ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากต้นทุนชีวิตเขาตัดบ้าน เขาไม่มีการศึกษาเพราะตัดไปแล้ว ทุนต่างๆ อย่างเช่นเงินเก็บ เงินออม อะไรอย่างนี้ก็ไม่มี จะไปหางานใหม่ก็ไม่ได้ เนื่องจากการศึกษาต่ำ อาชีพมันก็ไม่มี

ส่วนมากคนไร้บ้านเขาเป็นคนที่ทำงานรับจ้างทั่วไป ทำงานแบบสกิลต่ำมาตลอดทั้งชีวิต ตั้งแต่ชีวิตวัยหนุ่มที่เขายังพอจะทำงานแรงงานได้ แต่มันทำให้เขาไม่สามารถที่จะไปต่อยอดในสกิลอื่นได้ เพราะต้นทุนจากที่มีมันก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้องเลือกมาอยู่แบบไร้บ้านไป


แล้วจากสถิติ ภาพรวม มีคนไร้บ้านอยู่ประมาณไหนคะ มากน้อยแค่ไหน


คือ..จะเรียกว่ายังไงดี จริงๆ แล้วตอนนี้เราเริ่มมีสมมติฐานว่าจำนวนของคนไร้บ้านมันไม่นิ่ง มันดิ้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งมาเจอช่วงโควิดนะครับ ตอนแรกเราคิดว่ามันจะเพิ่มขึ้นแบบที่น่าตกใจ อะไรอย่างงี้

ซึ่งก็เพิ่มขึ้นจริงนะครับในช่วงโควิด คนไร้บ้านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นจริง แต่ประเด็นมีอยู่ว่า คนไร้บ้านหน้าเก่าก็หายไป เหมือนมีการเปลี่ยนเจนฯ เราเลยเริ่มมีสันนิษฐานว่า เอ้..แล้วตกลงมันยังไง? เพราะว่าตอนนี้เราทำการสำรวจพื้นที่คร่าวๆ แต่ก่อนพื้นที่สำคัญอย่างหัวลำโพงคนไร้บ้านจะเยอะ หรือแม้แต่จุดเชื่อมระหว่างหัวลำโพง สวนลุม แถวนั้น เดี๋ยวนี้ก็ไม่มี หรือมีน้อยมาก แต่ว่าคนก็จะไปรวมๆ อยู่ที่ราชดำเนิน แต่พอได้ทำการสำรวจจริงๆ แล้วเนี่ย ลองนับด้วยตาแล้วก็นับด้วยของแจก เราแจกแบบละเอียดมากนะ เอาเข้าจริงก็ไม่เกิน 200 กว่าคน


พี่เอ๋หมายถึงที่อาศัยตามพื้นที่สาธารณะใช่มั้ยคะ


ใช่ครับ ตอนนั้นเราไปแจกร่ม กับขนมปังเนี่ยแหละ เพื่อทำการนับคร่าวๆ ด้วย เราอยากรู้จำนวน นับได้ประมาณ 200 กว่าคน คือไม่เยอะ จากนั้นจุดใหญ่ๆ ก็หายไป เรากำลังมีสมมติฐานด้วยว่าจริงๆ แล้ว เรื่องจำนวนที่เปลี่ยนแปลง เพราะว่าเศรษฐกิจด้วย เรื่องโควิดด้วย เขาเลยทยอยกันกลับบ้านรึเปล่า อะไรอย่างงี้

(ผู้สัมภาษณ์ : กลับบ้านที่ต่างจังหวัดรึเปล่าคะ) ใช่ครับ เป็นไปได้ เพราะว่าตามหัวเมือง เราก็พบว่ามันไม่ได้มีการไปเพิ่มจำนวนในหัวเมือง (ผู้สัมภาษณ์ : เมื่อก่อนเขาก็อาจจะยังไม่ได้คิดว่าอย่างน้อยกลับบ้านที่ต่างจังหวัดยังปลูกนู่นปลูกนี่กินได้ อะไรอย่างนี้) ใช่ครับ อันนี้เรียกว่า ภาวะเศรษฐกิจแย่ลง มันก็หากินได้ยากขึ้น



แล้วอย่างคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิตก็คือรวมอยู่ด้วยใช่มั้ยคะ


มีครับ แต่เราไม่ได้เรียกว่าเป็นคนไร้บ้าน แบบนั้นจะเป็นคนป่วย ผมว่าสาเหตุของการป่วยของเขา จริงๆ แล้วที่เป็นสาเหตุของการออกมาจากบ้านเนี่ย มันต่างจากสาเหตุของการหนีออกจากบ้าน เพราะว่าเขาป่วยมาก่อนหน้านั้นเนี่ยมันมีผลคือเขากลัว หวาดระแวง แล้วก็ออกจากบ้าน มาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งมันจะแตกต่างจากเหตุผลของการหนีออกจากบ้านของคนไร้บ้าน


ถ้าไม่ได้ไปลงพื้นที่แบบพี่เอ๋อาจจะนึกภาพไม่ค่อยออก คนไร้บ้านเขาอยู่เป็นที่ๆใช่มั้ยคะ หรือเขาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ


ไม่เปลี่ยนครับเขาก็จะอยู่ที่ประจำของเขา


แล้วเรื่องห้องน้ำห้องท่าทำยังไงคะ


ก็จะเป็นห้องน้ำตามพื้นที่ครับ อย่างถ้าอยู่ใกล้ปั๊มน้ำมัน เขาก็จะเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน ถ้าอยู่ใกล้สวนสาธารณะ ก็เข้าห้องน้ำที่สวนสาธารณะ แต่ว่าถ้ามันไกลก็อาจจะปล่อยแถวๆ นั้น ครับ


พอจะเข้าใจแล้วค่ะ ทีนี้อยากทราบว่าตอนนี้ในทีมของพี่เอ๋มีน้องๆ กี่คนคะ แล้วแบ่งงานกันยังไงคะ


ถ้ารวมพี่ด้วยก็ 8-9 คนครับ คืองานมันเยอะขึ้นตั้งแต่งานที่เป็นส่วนของผู้ป่วย และงานที่เป็นในส่วนของจ้างวานข้า ก็คือการจ้างงานคนไร้บ้าน แล้วก็ในส่วนของงานใหม่ ก็คือตัวซักผ้า นั่นแหละครับ มันก็ต้องการคนมาทำงานเพิ่มขึ้น



ลักษณะการทำงานของพี่เอ๋เป็นแบบไหนคะ ต้องลงพื้นที่เยอะมั้ยคะ


แล้วแต่งานครับ แล้วแต่เคสว่าเป็นยังไง บางทีอาจจะแก้ปัญหากันยาวเลยก็ได้ สมมติถ้าเราไปเจอเคสใหม่เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งถ้าจัดเป็นกลุ่มจิตเวชเนี่ย เราจะใช้การบังคับรักษาครับ เพราะตัวกฏหมายมันมีตัวที่เอื้ออยู่ว่า ให้สามารถที่จะทำการรักษา ไม่ได้ทำการรักษาโดยเรานะ ทำการรักษาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราต้องประสานงานไปเอง

(ผู้สัมภาษณ์ : อันนี้คือเป็นสิทธิ ไม่ต้องเสียเงินใช่มั้ยคะ) ใช่ครับ


ในกรณีถ้าเขาปกติดีก็เป็นเรื่องของเขาที่เขาจะอยู่ตรงนั้น เป็นสิทธิของเขาใช่มั้ยคะ


ใช่แล้วครับ แม้แต่คนไร้บ้านป่วย ป่วยทางร่างกายอย่างเดียวนะครับ คือเราเห็นแล้วล่ะว่าป่วยหนัก ป่วยมากอะไรอย่างนี้ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าถ้าเขายังมีสติสัมปชัญญะ แล้วเขาบอกว่าเขาไม่ไป (โรงพยาบาล) เราก็ต้องเคารพสิทธินั้น เคารพการตัดสินใจของเขา


อยากให้พี่เอ๋ช่วยพูดถึงโปรเจคล่าสุดหน่อยได้มั้ยคะ ที่เป็นรถซัก อบ อาบ


เป็นตัวกิจการซักผ้าเคลื่อนที่ครับ เดี๋ยวเราจะมีชื่อเรียกครับว่า Free for Friends ก็คือจริงๆ แล้วในตัวกิจการมันไม่ได้มีแค่รถอย่างเดียว แต่ว่ามันจะมีเรื่องอะไรต่างๆ นู่นนี่นั่นใหม่ อะไรอย่างงี้ครับ ก็พยายามที่จะเซ็ทตัวกิจการส่วนนึงที่ทำให้ตัวคนไร้บ้านมาใช้บริการ เขาสามารถที่จะรับอะไรที่มันหลากหลาย แล้วก็เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของเขา อย่างน้อยให้มันดีขึ้นครับ



รถสำหรับซัก อบผ้า และอาบน้ำ ไม่ได้มีไว้สำหรับคนไร้บ้านเท่านั้น แต่ยังบริการสาธารณะให้กับผู้ประสบภัยอีกด้วย เช่น กรณีชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ที่ประสบเพลิงไหม้เป็นต้น . ในเวลาที่อากาศร้อนจัด แต้ม All Member ที่คุณบริจาคมา ยังได้เปลี่ยนเป็นรอยยิ้มของเด็กๆ ในชุมชนเมื่อทีมงานระดมเด็กๆ ในศูนย์พักพิงไปบุกเซเว่น แจกแต้มคนละ 100 บาทเพื่อซื้อขนม และอาหารตามที่อยากกินอีกด้วย . ทั้งหมดนี้ คือบริการสาธารณะ ที่เกิดจากการช่วยเหลือ และแบ่งปันของผู้คนทีละเล็กละน้อยทั้งในนามบุคคล และในกลุ่มธุรกิจองค์กรส่งต่อมายังมูลนิธิกระจกเงา


แล้วโปรเจคที่ทางมูลนิธิกระจกเงาได้ไปร่วมกับรถ ซักอบอาบ นี้เกิดขึ้นได้ยังไงคะ


จริงๆ แล้วทางเราเองก็คิดนู่นนี่นั่นอยู่แล้วครับ (ผู้สัมภาษณ์ : มันน่ารักมากเลยนะคะ) ใช่ครับ ^-^ พอดีทางผู้บริหารของ OTTERI น่ะครับ เขาก็อยากทำเรื่องนี้อยู่แล้วด้วย เขาก็เลยมาคุยกับเรา นั่นแหละครับพอคุยกันแล้วก็เลยได้ร่วมงานกัน


แล้วรถซักอบอาบจะแล่นไปในกรุงเทพอย่างเดียวใช่มั้ยคะตอนนี้


ใช่ครับ ตอนนี้เป็นที่กรุงเทพอย่างเดียวเลยครับ


ถามแทนน้องๆที่อยากจะมาร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงา จะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้างคะ ต้องเรียนจบอะไรมา หรือจะต้องมีคุณลักษณะอะไรเป็นพิเศษมั้ยคะ


ไม่มีเลยครับ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วไม่มีเลย สิ่งที่เราคิดว่ามันสำคัญคือความตั้งใจครับ สองเนี่ย มีภาวะผู้นำ เราคิดว่านี่เป็นสกิลสำคัญ สาม มีภาวะการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ประมาณนี้ครับ



สามอย่างนี้มันสำคัญที่ มันเป็นการต่อยอดในสกิลต่างๆ ได้ เช่นว่า เราอยากได้คนที่มีสกิลในเรื่องการทำงานวิดิโอ จริงๆ แล้วเราเคยทำงานวิดิโอในช่วงที่เฟสบุ๊คมันฮิตๆ กัน ช่วงสอง-สามปีที่แล้ว ตอนนั้นเราก็ทำไม่เป็นกันเลยนะ แต่รู้สึกว่า เฮ้ย เราเรียนรู้ได้อะ


คนๆ นั้น ก็คือพี่เอ๋เองรึเปล่าคะ ที่ไปเรียนรู้มา


ไม่ๆๆ เป็นน้องในทีมครับ พี่น่าจะช่วยบริการ (หัวเราะ) นะครับ แล้วพอทำเสร็จปุ๊ปก็มีผลงาน คลิปนึงคนเข้ามาดูก็เป็นล้านครับ ก็คิดว่ามันเรียนรู้กันได้ เราไม่ได้ต้องการงานที่มันดูแล้วต้องมืออาชีพ แต่ว่าเราต้องการงานที่มันสามารถทำออกมาแล้วมันถ่ายทอดสิ่งที่มันเป็นหลักการ ที่มันเป็นคอนเท้นที่เราตั้งใจถ่ายทอดออกมาเท่านั้นเองครับ


งานเกี่ยวกับสังคมถือว่าเป็นงานอีกสาขาหนึ่งที่เด็กรุ่นใหม่อยากที่จะมีส่วนร่วมนะคะ แต่บางทีเขาอาจจะไม่มีข้อมูล ไม่รู้ว่าต้องเรียนอะไร ต้องไปเรียนคณะสังคมสงเคราะห์มั้ยอะไรแบบนั้นค่ะ


อย่างพี่เงี้ย พี่จบช่างมา พี่ก็มาทำตรงนี้ตั้งแต่ปี 54 ก็ร่วม 10 ปีแล้วนะครับ ส่วนตัวถ้าถามพี่นะ ถ้าใครมีใจกับสิ่งๆนี้ หรืออย่างน้อยถ้าคุณสนใจการช่วยเหลือสังคม สนใจคนต่างๆ อะไรแบบนี้อะครับ ก็จะทำงานได้มากขึ้น ทำงานสนุกขึ้นครับ


กว่า 30 ปีแล้วมูลนิธิกระจกเงามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสังคมมากมาย อยากให้พี่เอ๋ช่วยฝากอะไรถึงวัยรุ่นยุคนี้นิดนึงได้ไหมคะ


จริงๆ แล้วเราคิดว่า สิ่งเนี้ยะมันเป็นสิ่งนึง ในการใช้ชีวิตของเด็กรุ่นใหม่นะครับไปแล้ว เพราะเราดู social media ตลอด เขาอาจจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องของตัวเองอย่างเดียว เพราะสังคมมันถูกถ่ายทอด ถูกทำให้เห็น มิติก็ได้ขยายตามมันไปด้วย


ถ้าประเด็นสำคัญคือ สิ่งที่มีแล้วจะทำให้มันเกิดประโยชน์ เป็นเรื่องสำคัญขึ้นมา คือ มันเป็นความสำนึกดีอะครับ ถ้าเขายิ่งปลุกปั้นมัน และเอามันมาใช้ประโยชน์ต่อ ผมคิดว่ามันเป็นทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จริงๆ ทุกคนมีสิ่งนั้นในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีภาวะของ Active Citizen มันจะทำให้สังคม และชุมชน ขยับเขยื้อนไปในทางที่ดีได้

ขอขอบคุณพี่เอ๋ ที่แชร์ประสบการณ์ดีๆกับ Theclasstutor นะคะ ชอบประโยคที่พี่เอ๋พูดว่า สังคมมันถูกถ่ายทอด ถูกทำให้เห็น ฉะนั้นประชาชนคนรุ่นใหม่จะปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางสังคมไปไม่ได้เลย เพราะแค่ลืมตาและจับมือถือเราก็เข้าสู่โลก Social กันแล้ว แล้วพบกับ content #dreamjobswiththeclasstutor ในตอนต่อไปนะคะ ว่าจะเป็นอาชีพสาขาไหน ^^



ขอบคุณภาพจาก : มูลนิธิกระจกเงา

ดู 22 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comentários

Avaliado com 0 de 5 estrelas.
Ainda sem avaliações

Adicione uma avaliação
bottom of page